Skip to main content

สารพิษจากเชื้อรากับสุกร: ความเสี่ยงต่ำหมายถึงไม่มีความเสี่ยง จริงหรือ?

โรคระบบทางเดินหายใจที่ไม่ทราบสาเหตุอาจเกิดได้จากการมีสารพิษจากเชื้อราปนเปื้อนในอาหารสัตว์  - ภาพ: ออลเทค

ภาวะเป็นพิษอย่างเฉียบพลัน (acute mycotoxicosis) ในสุกร เป็นสิ่งที่ค่อนข้างพบได้ยากในปัจจุบัน เนื่องจากมีความเข้าใจมากขึ้นและเทคโนโลยีที่ดีขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่สารพิษจากเชื้อราในปริมาณต่ำ ก็อาจนําไปสู่ปัญหาสุขภาพในสัตว์โดยที่ไม่ปรากฏอาการได้

สารพิษซึ่งถูกผลิตโดยเชื้อรามักพบได้ในวัตถุดิบหลากหลายชนิดที่ใช้ผลิตอาหารสุกร เป็นปัญหายังพบได้อย่างต่อเนื่อง ที่ผู้ผลิตสุกรทั่วโลกจำเป็นต้องมีการจัดการเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ

ในช่วงกว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ที่มีการตรวจสอบสารพิษจากเชื้อราในข้าวโพด ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ โดยใช้ Alltech 37+ พบว่า 81% ของตัวอย่างจากทั่วโลก มีการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราสองชนิดขึ้นไป โดยค่าเฉลี่ยของสารพิษจากเชื้อราที่พบคือ 4 ชนิดต่อหนึ่งตัวอย่าง และเมื่อออลเทคได้ประเมินความเสี่ยงของสารพิษฯ ที่มีต่อสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ โดยใช้วิธีการประเมินที่เรียกว่า Risk Equivalent Quantity (REQ) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยออลเทค ผลแสดงให้เห็นว่ามีความเสี่ยงของสารพิษจากเชื้อราในระดับสูงสำหรับสุกรอนุบาลและสุกรพันธุ์ และมีความเสี่ยงระดับปานกลางสำหรับสุกรรุ่น-ขุน

 

สารพิษจากเชื้อราในปริมาณต่ำ

ในบรรดาสัตว์ทุกชนิด สุกรเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่ไวต่อผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากสารพิษมากที่สุด เมื่อพิจารณาถึงความถี่และความเข้มข้นที่จะพบสารพิษจากเชื้อรา จึงเป็นไปได้อย่างสูงว่าสารพิษจากเชื้อราจะถูกสัตว์บริโภคเข้าไปเป็นประจํา แต่ต้องขอบคุณนวัตกรรมในการจัดการและควบคุมสารพิษจากเชื้อรา ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เราจึงไม่ค่อยพบอาการเป็นพิษเฉียบพลันได้บ่อยนักในการเลี้ยงสุกรสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม แม้ระดับสารพิษจากเชื้อราจะมีปริมาณต่ำ – ซึ่งมักตรวจไม่พบ – ก็สามารถทำให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลงและทำให้สัตว์ไวต่อโรคติดเชื้อได้มากขึ้น นอกจากนั้นแล้ว เป็นที่ทราบกันว่าสารพิษจากเชื้อราจะทำปฏิกิริยากับตัวก่อความเครียดอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียประสิทธิภาพของสัตว์, อุบัติการณ์ของโรคสูงขึ้น และทำให้สัตว์มีประสิทธิภาพการสืบพันธุ์ลดลงโดยสัตว์ไม่แสดงอาการให้เห็น สําหรับผู้ผลิตแล้ว การสูญเสียเหล่านี้ มักจะเป็นความสูญเสียในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าการสูญเสียจากผลกระทบอย่างเฉียบพลัน อีกทั้ง สารพิษในระดับที่ยิ่งต่ำก็จะถูกตรวจพบได้ยากยิ่งขึ้น

 

ไม่แสดงอาการ (subclinical)” หมายถึงอะไร?

หมายถึงอาการเจ็บป่วยในระยะแรกหรือในรูปแบบที่ไม่รุนแรง ไม่มีอาการที่สามารถตรวจพบได้ ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อราในวัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ภาวะเป็นพิษอย่างเฉียบพลันซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต อย่างไรก็ตามสิ่งที่พบได้บ่อยกว่าก็คือผลกระทบกึ่งเฉียบพลันและบ่อยครั้งเป็นการเปลี่ยนแปลงของการทํางานของอวัยวะโดยไม่แสดงอาการ ที่ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการผลิตลดลง ผลกระทบที่สำคัญของการได้รับสารพิษจากเชื้อราที่มีความเข้มข้นต่ำ อาจสามารถสังเกตได้ในระบบภูมิคุ้มกันและการต้านอนุมูลอิสระ ในขณะที่อาจจะตรวจไม่พบการปนเปื้อนของสารพิษจากเชื้อรา

 

"หากสัตว์ได้รับสารพิษจากเชื้อราในปริมาณปานกลางถึงต่ำที่ปนเปื้อนในอาหารส้ตว์เป็นประจำทุกวัน จะเพิ่มความไวต่อการเกิดโรคจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิต"

 

ผลกระทบของสารพิษจากเชื้อราต่อระบบภูมิคุ้มกัน

ในขณะที่การเจริญเติบโตและความสามารถในการผลิตที่แย่ลงจะมีความสําคัญในเชิงเศรษฐกิจอย่างมาก แต่แท้จริงแล้วสารพิษจากเชื้อราหลายชนิดที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์เป็นเรื่องน่ากังวลยิ่งกว่า สารพิษฯ ในปริมาณปานกลางถึงต่ำที่มีอยู่ในอาหารที่สัตว์บริโภคประจําวัน จะทำให้สัตว์มีความไวต่อโรคจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิต มากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะและยาต้านปรสิตเพื่อรักษาโรคที่อุบัติมากขึ้นโดยปริยาย ซึ่งนั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสัตว์และการใช้สารต้านการติดเชื้อโดยเฉพาะอย่างยิ่งยาปฏิชีวนะที่เพิ่มสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็อาจทำให้เกิดความเสี่ยงของการเกิดและการแพร่กระจายของการดื้อยาต้านจุลชีพที่สูงขึ้นด้วย และการที่สารพิษจากเชื้อราส่งผลในการกดภูมิคุ้มกันของสัตว์ ก็อาจทำให้มีการป้องกันต่อโรคไวรัสที่ไม่สมบูรณ์หลังจากการฉีดวัคซีน เนื่องจากสัตว์จะมีการสร้างแอนติบอดีที่บกพร่องนั่นเอง

 

ผลกระทบต่อภาวะการต้านอนุมูลอิสระ

ภาวะเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ในระดับเซลล์ที่เพิ่มสูงขึ้น เป็นผลกระทบที่พบได้บ่อยของการได้รับสารพิษจากเชื้อราหลายชนิด ซึ่งสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของการผลิตอนุมูลอิสระของออกซิเจนและไฮโดรเจน และการสูญเสียกลไกการป้องกันเซลล์เช่น กลูตาไธโอน ความเครียดออกซิเดชันของเซลล์และการผลิตอนุมูลอิสระที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดกระบวนการลิพิดเปอร์ออกซิเดชัน (lipid peroxidation) และการตายของเซลล์ (Cellular necrosis) สารพิษจากเชื้อราหลายชนิดยังส่งผลกระทบต่อการขนส่งวิตามินและโปรวิตามิน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเกิดลิพิดเปอร์ออกซิเดชัน ทําให้การทํางานของเซลล์ที่สําคัญบกพร่อง และเร่งกระบวนการตายของเซลล์อย่างเป็นระบบ (เช่น apoptosis) ซึ่งจะทำให้เกิด Cellular necrosis ตามมา

การรวมตัวกันของสารพิษจากเชื้อรากับโครงสร้างเยื่อหุ้มเซลล์ทําให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นอันตรายหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการ peroxidation ของกรดไขมันสายยาวชนิดไม่อิ่มตัวพันธะคู่หลายตำแหน่ง (PUFAs) หรือที่เรียกว่า ลิพิดเปอร์ออกซิเดชัน (lipid peroxidation) ต่อมาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของการซึมผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ (membrane permeability) ความยืดหยุ่นของเยื่อหุ้มเซลล์ และลักษณะสําคัญอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อการทํางานของเยื่อหุ้มเซลล์ได้

นอกจากนี้ ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า สารพิษจากเชื้อราไปกระตุ้นการเกิด lipid peroxidation โดยตรง ด้วยการกระตุ้นการผลิตอนุมูลอิสระ หรือความไวของเนื้อเยื่อต่อกระบวนการเกิด lipid peroxidation ที่สูงขึ้นนั้น เป็นผลมาจากระบบการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระที่ถูกบุกรุก (ดูรูปที่ 1)

 

การจัดการกับปัญหาสารพิษจากเชื้อรา

แม้ว่าการปนเปื้อนสารพิษจากเชื้อราในระดับที่ต่ำอาจไม่ได้เป็นเรื่องน่ากังวลมากนักต่อผู้ผลิต แต่ก็ชัดเจนว่าการละเลยกับความเสี่ยงนี้อาจก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่หลีกเลี่ยงได้โดยไม่จําเป็น หากประเมินผลกระทบในระยะยาวของความเจ็บป่วยแบบไม่แสดงอาการของสัตว์ต่ำเกินไป จะส่งผลเสียต่อภูมิคุ้มกันและกระบวนการสร้างสารต้านอนุมูลอิสระของสุกรอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนั่นจะสร้างความเสียหายต่อ ความสามารถในการผลิต การสืบพันธุ์ และสถานะของโรคได้

ในขณะที่การควบคุมสารพิษจากเชื้อรามีพัฒนาการขึ้นมาก แต่ก็อาจเป็นไปไม่ได้ที่จะกําจัดสารพิษทั้งหมดออกจากห่วงโซ่อุปทานอาหารสัตว์ โชคดีสําหรับผู้ผลิตสุกร ที่มีวิธีในการจัดการความเสี่ยงมากมายซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากสารพิษจากเชื้อราได้ ตั้งแต่ขั้นตอนการปลูกพืชไปจนถึงขั้นตอนการส่งมอบอาหารสัตว์ให้กับฟาร์มปศุสัตว์

หนึ่งในเครื่องมือสําคัญคือการตรวจจับสารพิษจากเชื้อรา หากไม่มีการระบุและวัดปริมาณความเสี่ยงที่แท้จริง อาจเป็นเรื่องยากมากที่จะสร้างโปรแกรมเพื่อจัดการความเสี่ยงของสารพิษจากเชื้อราที่มีประสิทธิภาพ หรือการใช้ส่วนผสมในอาหารสัตว์ เช่น mycotoxin binder ที่ออกแบบมาเพื่อกําจัดสารพิษออกจากทางเดินอาหารของสุกรก่อนที่จะมีโอกาสก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงอย่างได้ผล

Loading...