Skip to main content

ความสัมพันธ์ระหว่างการฉีดวัคซีนและโภชนาการสำหรับสัตว์

ผู้ผลิตโคที่ทำงานเชิงรุกจะมองการณ์ไกลเพื่อเตรียมพร้อมในการจัดการกับความเครียดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้และความท้าทายอื่นๆ ที่โคกระบือของพวกเขาจะต้องพบเจอ พวกเขาจะรู้ดีว่าการหย่านม การขนย้าย และความเครียดอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเป็นระยะเวลายาวนาน อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบภูมิคุ้มกันและสมรรถภาพของสัตว์ที่ตนเลี้ยงในท้ายที่สุด ดังนั้นเกษตรกรเหล่านี้จะหาวิธีการเพื่อลดความเครียดและปัญหาสุขภาพใดๆ ที่โคของตนกำลังเผชิญอยู่ พวกเขาทราบดีว่าค่าใช้จ่ายในการป้องกันถูกกว่าค่ารักษามากนัก อีกทั้งยังอยากเห็นโคกระบือของพวกเขาสามารถมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ดี ดังนั้นแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการสุขอนามัยเชิงป้องกันคือกุญแจสำคัญเพื่อสุขภาพที่แข็งแรงของโคกระบือ

การฉีดวัคซีนและโภชนาการมีความสัมพันธ์แบบเอื้อประโยชน์ซึ่งกันในแง่ของการรักษาระบบภูมิคุ้มกันของโคกระบือให้ทำงานได้อย่างดี แม้ว่าโปรแกรมโภชนาการที่มีคุณภาพจะเป็นรากฐานของระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง แต่ทั้งโปรแกรมโภชนาการและการฉีดวัคซีนก็มีความสำคัญต่อความสำเร็จของการบริหารจัดการสุขอนามัยเชิงป้องกันในโคกระบือด้วยเช่นกัน โดยการบริหารจัดการสุขอนามัยเชิงป้องกันจะเน้นส่งเสริมภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติของสัตว์และลดผลกระทบต่อการเจริญเติบโตที่เกิดจากความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ

บทบาทของการฉีดวัคซีน

การฉีดวัคซีนจะเป็นการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้โคกระบือผลิตแอนติบอดี้ขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับไวรัสหรือแบคทีเรียก่อโรคโดยเฉพาะ เมื่อได้รับวัคซีน ปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่ทำงานปกติจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันจดจำเชื้อโรคชนิดนั้นๆ สัตว์จะสามารถตอบสนองอย่างรวดเร็วหากได้รับเชื้อโรคที่เคยได้รับวัคซีนมาก่อนจึงหลีกเลี่ยงการติดเชื้อได้ แต่ในแต่ละพื้นที่ภูมิศาสตร์จะเสี่ยงต่อโรคแตกต่างกันไป ดังนั้นคุณจึงต้องร่วมมือกับสัตวแพทย์ในท้องถิ่นในการกำหนดแนวทางการใช้วัคซีนให้เหมาะสมต่อความต้องการเฉพาะสำหรับธุรกิจของคุณ

และแม้ว่าความต้องการของคุณอาจแตกต่างกันไปตามแต่ประเภทสัตว์และพื้นที่ภูมิศาสตร์ แต่ในบรรดาวัคซีนต่างๆ ก็มีวัคซีนจำนวนหนึ่งที่เราพิจารณาว่ามีความสำคัญต่อเหล่าโคเนื้ออย่างมากโดยพื้นฐาน เช่น วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วง และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจในโค เป็นต้น

การกำหนดตารางฉีดวัคซีนสำหรับโค

ถึงแม้การฉีดวัคซีนจะเป็นเรื่องที่สำคัญโดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่การกำหนดตารางฉีดวัคซีนโคเนื้ออย่างเหมาะสมก็จำเป็นต่อผลสำเร็จของวัคซีนด้วยเช่นกัน การกำหนดจังหวะเวลาที่เหมาะสมมีผลอย่างมากต่อความสำเร็จของแผนการให้วัคซีน การฉีดวัคซีนควรวางแผนเรื่องเวลาเพื่อให้แอนติบอดี้ขึ้นสู่ระดับสูงสุดในช่วงที่สัตว์มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด โปรดระลึกไว้เสมอว่าหลังฉีดวัคซีนต้องใช้เวลาพัฒนาแอนติบอดี้นานหลายสัปดาห์เลยทีเดียวกว่าจะแตะระดับสูงสุด ดังนั้นคุณจึงต้องวางแผนล่วงหน้าไว้ให้ดี

วงจรการผลิตสัตว์จะเป็นตัวกำหนดประเภทและจังหวะเวลาในการให้วัคซีน ดังนี้

  • ช่วงท้องแก่ก่อนคลอด: วัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงควรให้ปลายช่วงตั้งท้องเพื่อให้น้ำนมเหลืองมีแอนติบอดี้ในระดับสูงสุด และเนื่องจากลูกวัวแรกเกิดยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแออยู่ทำให้ติดโรคได้ง่าย จึงต้องพึ่งน้ำนมเหลืองในการรับเอาแอนติบอดี้และสร้างภูมิคุ้มกันที่จำเป็นอย่างมากเข้าสู่ร่างกาย

 

  • ช่วงก่อนการผสมพันธุ์: เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่วัวสาวและแม่วัวทดแทนจึงควรมีแผนการฉีดวัคซีนในระยะก่อนการผสมพันธุ์ ซึ่งควรดำเนินการให้เสร็จสิ้นประมาณ 45 วันก่อนผสมพันธุ์ 

 

  • โคเพศผู้: หากคุณต้องการสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อความปลอดภัยแก่วัวตัวผู้ อาจต้องใช้โปรแกรมการฉีดวัคซีนรายปี ซึ่งจะคล้ายกับในกรณีของแม่วัวและวัวสาวทดแทนคือการฉีดวัคซีนน่าจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดกับวัวตัวผู้ประมาณ 45 วัวก่อนการผสมพันธุ์

 

  • ลูกโคหย่านม: ควรให้วัคซีนประมาณ 1-2 สัปดาห์ก่อนหย่านมเพื่อให้แอนติบอดี้สามารถให้การป้องกันได้สูงสุดในช่วงขุนรวม เพราะในช่วงหย่านม การขนย้าย การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมใหม่ และการอยู่อาศัยปะปนกับกลุ่มใหม่ ถือเป็นช่วงเวลาอ่อนไหวที่จะทำลูกวัวเกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้ง่ายการฉีดวัคซีนจะทำให้ลูกวัวมีภูมิคุ้มกันพอสมควรเมื่อต้องเข้าสู่ช่วงใหม่ของชีวิต

โดยโปรแกรมวัคซีนเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพได้ต่อเมื่อมีการบริหารจัดการที่ดี เพราะด้วยสภาพร่างกายของสัตว์ที่อ่อนแอในช่วงที่ได้รับวัคซีน, การดูแลรักษาวัคซีนที่ไม่เหมาะสม, และระดับโภชนาการที่ไม่เพียงพอ อาจทำให้วัคซีนไม่ให้ผลดีเท่าที่ควร และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีนไม่ได้ผลไม่ใช่เพียงแค่เสียวัคซีนไปอย่างเปล่าประโยชน์เท่านั้น แต่อาจทำให้เสียประโยชน์ เสียกำไร หรือแม้กระทั่งเสียลูกวัวไปทั้งกลุ่มก็เป็นได้ นอกจากนั้นคุณยังต้องเข้าใจด้วยว่าวัคซีนมิได้เป็นตัวการันตีภูมิคุ้มกัน 100% และอาจทำให้เกิดภูมิเพียงแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นเราจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนด้วยโภชนาการที่เหมาะสมได้หรือไม่

 

บทบาทของโภชนาการ

การให้สารอาหารในระดับที่สัตว์ต้องการถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนา, การดูแลรักษา และการทำงานอย่างเหมาะสมของระบบภูมิคุ้มกัน นอกเหนือจากประโยชน์ต่อสุขอนามัยในด้านอื่นๆ แล้ว โภชนาการที่ดียังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของวัคซีนและสร้างภูมิแก่โคกระบือได้อย่างยาวนาน และการที่จะทำให้สัตว์ได้รับสารอาหารในระดับที่ส่งเสริมการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันนั้น จะต้องมีการให้พลังงาน โปรตีน แร่ธาตุรองและวิตามินในโปรแกรมโภชนาการสำหรับโคกระบือด้วย

  • พลังงาน: การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจำเป็นต้องใช้พลังงานอย่างมาก เมื่อโคกระบือสัมผัสโรค ระบบภูมิคุ้มกันจะต้องทำงานอย่างหนัก หากดูลำดับปริมาณการใช้พลังงานของร่างกายแล้ว ปฏิกิริยาตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจะใช้พลังงานมากกว่าการบำรุงรักษาและการผลิตของร่างกายเสียอีก อย่างไรก็ตาม การนำพลังงานไปใช้ในกระบวนการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจะทำให้สารอาหารที่นำไปใช้สำหรับการเติบโตหรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอมีจำนวนลดลง โดยอาจทำให้แม่พันธุ์มีสภาพร่างกายอ่อนแอลงและสัตว์ในระยะขุนเติบโตได้น้อยลง

 

  • โปรตีน: โปรตีนถูกใช้ในการผลิตแอนติบอดี้ และเนื่องจากเป้าหมายของการฉีดวัคซีนคือเพื่อเพิ่มการผลิตแอนติบอดี้ ภาวะขาดแคลนโปรตีนจึงอาจส่งผลให้ร่างกายผลิตแอนติบอดี้ได้ต่ำกว่ามาตรฐานที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกับการใช้พลังงาน การที่ร่างกายต้องนำโปรตีนไปใช้ในระบบภูมิคุ้มกันแทนการเสริมสร้างการเจริญเติบโต จึงอาจส่งผลเสียต่อสมรรถภาพของสัตว์ได้

 

  • แร่ธาตุรองและวิตามิน: แร่ธาตุรองและวิตามินที่จำเป็นในอาหารสัตว์นั้นมีปริมาณที่แตกต่างกันไปตามอายุ ประเภท และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่โคกระบือดังกล่าวอาศัยอยู่ แต่ทั้งวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ก็มีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของภูมิคุ้มกันทั้งสิ้น การขาดแคลนสารอาหารเหล่านี้ อาจทำให้ร่างกายผลิตแอนติบอดี้ได้น้อยลง

 

ความต้องการด้านโภชนาการในแต่ละช่วงชีวิต

เช่นเดียวกับวัคซีน ความต้องการด้านโภชนาการในโคกระบือของคุณจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับลักษณะฝูงสัตว์และพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ การกำหนดสัดส่วนโภชนาการสำหรับสัตว์ของคุณนั้นอาจต้องคำนึงถึงปัจจัยเหล่านี้ เช่น ลักษณะโรงเลี้ยง อาหารที่ให้ และปัญหาสุขภาพที่สัตว์เคยเผชิญในอดีต แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดก็คือช่วงชีวิตปัจจุบันของโคกระบือ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความต้องการด้านโภชนาการพื้นฐานที่ควรให้แก่สัตว์

  • ลูกโคเกิดใหม่: ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าลูกวัวจะมีความอ่อนไหวต่อโรคต่างๆ ในระดับสูง จึงต้องพึ่งน้ำนมเหลืองซึ่งมีแอนติบอดี้ที่สำคัญครบถ้วนทุกชนิด ลูกวัวควรมีสุขภาพลำไส้ที่แข็งแรงตั้งแต่แรกเริ่ม ซึ่งจะทำให้สามารถดูดซึมสารอาหารจากน้ำนมเหลืองได้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการเติบโตได้อย่างดีที่สุดเมื่อลูกวัวเริ่มกินอาหารเลียราง

 

  • ลูกโคหย่านม: การดูแลลูกวัวให้มีลำไส้ที่แข็งแรงในช่วงหย่านมถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากต่อการส่งเสริมให้ระบบทางเดินอาหารมีความสมบูรณ์ ช่วยให้วัคซีนมีประสิทธิผลและทำให้สัตว์ยังคงมีสุขภาพดีในสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดสูง

 

  • แม่โค: ความต้องการของแม่วัวในฝูงของคุณจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุและระยะในวงจรการผลิต โดยแม่วัวอาจจำเป็นต้องได้รับแร่ธาตุเสริมเพื่อสุขภาพที่สมบูรณ์, สร้างเสริมการทำงานของภูมิคุ้มกัน และเพื่อความสำเร็จในการผสม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอาหารที่ให้ด้วย

โปรแกรมการฉีดวัคซีนให้สัตว์ในฟาร์มจำเป็นต้องมีการลงทุนทั้งเวลาและเงิน และโภชนาการที่มีคุณภาพก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้การลงทุนของคุณไม่เสียเปล่า โปรดปรึกษาสัตวแพทย์ของคุณเกี่ยวกับโปรแกรมการฉีดวัคซีนและโภชนาการที่เหมาะสมกับฟาร์มของคุณ และโปรดอย่าลืมว่า การป้องกันถูกกว่าค่ารักษามากนัก

Loading...