Skip to main content

แก้ไขความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กับ กิวโด โครลลา

ข้อมูลการประเมินล่าสุดโดยองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่า 2 ใน 3 ของจำนวนปลาเพื่อการบริโภคทั้งหมดถูกจับมาด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน

เมื่อเร็วๆ นี้ Alltech Coppens ได้เผยแพร่รายงานความยั่งยืน ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรของโลกเพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างรับผิดชอบ ในขณะที่อุตสาหกรรมนี้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการผลิตอาหารทั่วโลก กิวโด โครลลา ผู้จัดการแผนกจัดซื้อของ Alltech Coppens กล่าวถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ตามที่ระบุในรายงานและเน้นย้ำถึงความสำเร็จของอุตสาหกรรมซึ่งช่วยฟื้นฟูภาพลักษณ์แง่ลบเกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สื่อนำเสนอ

ข้อความต่อไปนี้เป็นบันทึกบนสนทนาในพอดคาสต์ Ag Future ระหว่าง กิวโด โครลลา และพิธีกร ทอม มาร์ติน คลิกที่นี่ เพื่อฟังบันทึกเสียงเต็มหรือฟังเฉพาะตอนดังกล่าวบน Apple Podcasts หรือ Spotify

 

Tom: ผมทอม มาร์ติน แขกรับเชิญของผมในวันนี้คือ กิวโด โครลลา ผู้จัดการแผนกจัดซื้อของ Alltech Coppens เขาคนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญระดับโลกในด้านการพัฒนา การผลิต และการทำการตลาดของอาหารและผลิตภัณฑ์ด้านโภชนาการของปลา คุณโครลลามีบทบาทเป็นหัวเรือใหญ่ในการจัดทำรายงานที่ระบุข้อมูลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ที่มีต่อแนวคิดเรื่องความยั่งยืน และวันนี้เขาจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เราฟัง สวัสดีครับ กิวโด

Guido: สวัสดีครับ ทอม

 

Tom: Alltech ยึดถือและปฏิบัติตามเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ 9 ข้อจากทั้งหมด 17 ข้อ คุณช่วยอธิบายให้เราฟังหน่อยว่า Coppens ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ Alltech ดำเนินการอย่างไรบ้างเพื่อสนับสนุนเป้าหมายนั้น

 

Guido: Alltech ยึดถือและปฏิบัติตามเป้าหมายโดยลงนามในข้อตกลงโลกของสหประชาชาติ (United Nations Global Compact) ในเดือนกรกฎาคม ปี 2019 และกำหนดวิสัยทัศน์ ‘Planet of Plenty’ ขึ้นมา ในฐานะบริษัทย่อยของ Alltech สิ่งนี้นำมาซึ่งความเป็นไปได้และโอกาสต่างๆ มากมายตามมา หนึ่งในเป้าหมาย SDGs ที่ Alltech ยึดถือปฏิบัติคือเป้าหมายข้อ 14 ซึ่งว่าด้วยสิ่งมีชีวิตใต้น้ำ เป้าหมายข้อนี้สอดคล้องกับการทำงานของพวกเราที่ Alltech Coppens อย่างเหมาะเจาะ เนื่องจากงานประจำวันของเราเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตที่อยู่ใต้น้ำ

เราเชื่อว่าเราทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างโลกที่ดีกว่า และช่วยเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับเป้าหมาย SDG ข้อนี้ได้ ด้วยเหตุนี้เอง Alltech Coppens จึงได้สร้างทีมความยั่งยืนขึ้นมาเป็นของตัวเอง เราเรียกทีมนี้ว่าทีม Planet of Plenty ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิก 7 คนจากแผนกต่างๆ การตั้งทีมนี้ขึ้นมาเปิดโอกาสให้เราสร้างความตระหนักรู้ภายในบริษัทให้เพิ่มมากขึ้นได้ภายในเวลาอันสั้น เนื่องจากแผนกต่างๆ ส่วนใหญ่ได้เข้ามาทำงานเกี่ยวข้องกับทีม นอกจากนี้ เรายังได้ติดต่อไปยังสมาชิกทีม Planet of Plenty ในสหรัฐฯ และเพื่อนร่วมงานทั่วโลกซึ่งทำงานในด้านความยั่งยืนไปพร้อมๆ กันด้วย ภายใต้การดำเนินงานของ Alltech Coppens เราเชื่อว่าการสื่อสารและการแบ่งปันข้อมูลคือกุญแจสำคัญที่จะทำให้เราดำเนินการตามวิสัยทัศน์ Planet of Plenty ได้สำเร็จ และคุณอาจจะได้ยินชื่อนี้ซ้ำอีกหลายๆ ครั้งตลอดพอดคาสต์ตอนนี้ ผมคิดว่าเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายของ Planet of Plenty ได้ก็ต่อเมื่อเราทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดครับ ทอม

 

Tom: Alltech Coppens ทำการค้นคว้า พัฒนา และนำทางเลือกที่ดีกว่ามาปรับใช้ในแนวทางการดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมการประมงอย่างไร?

 

Guido: แผนก R&D ของ Alltech Coppens และแผนกจัดซื้อของเราได้ทำการประเมินวัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เราตรวจสอบว่าวัตถุดิบนั้นนำมาจากแหล่งที่ยั่งยืนและถูกนำไปใช้อย่างมีความรับผิดชอบ และจะสร้างประโยชน์ต่อผลการดำเนินงานของฟาร์มได้ในอนาคต ตลอดจนในอุตสาหกรรมและโลกของเราได้ในที่สุด อาหารแต่ละชนิดจึงมีลักษณะเฉพาะตามสถานการณ์ที่สอดคล้องกันในภาคส่วนต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทำให้เป็นกรด เป็นต้น

การประเมินจำนวนอาหารสัตว์ที่เราผลิต รวมไปถึงปริมาณของวัตถุดิบหรือส่วนผสมแต่ละชนิดที่เราใช้ในอาหารสัตว์ และที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของซัพพลายเออร์ ทำให้เราสามารถประเมินวัตถุดิบได้ เรามุ่งมั่นที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ของสหประชาชาติและประเมินแหล่งที่มาของวัตถุดิบให้ได้สำเร็จ เมื่อปีที่แล้ว 80% ของวัตถุดิบที่เราจัดหามานั้นผลิตขึ้นในยุโรป 20% มาจากประเทศเยอรมนีซึ่งมีโรงงานของเราตั้งอยู่ 60% มาจากเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของเรา และเราคาดว่าตัวเลขเหล่านี้จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นทั้งในปีนี้และปีต่อๆ ไป ปัจจุบัน คุณภาพของอาหารปลาไม่ได้ถูกกำหนดโดยตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับปลาโดยตรง อย่างเช่น ประสิทธิภาพ เท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบของอาหารนั้นๆ ที่มีต่อโลกอีกด้วย ดังนั้น เราจึงทำการทดลองมากมายเกี่ยวกับวัตถุดิบทางเลือก เช่น แมลงป่น และโปรตีนเซลล์เดียว เราจะเดินหน้าเฟ้นหาวัตถุดิบทางเลือกใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นที่การลดผลกระทบของอาหารสัตว์ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ

 

Tom: จากที่คุณกล่าวมา หมายความว่าตอนนี้คุณกำลังทำงานร่วมกับบริษัทอื่นๆ ทั่วโลกเพื่อเพิ่มความยั่งยืนให้กับอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำใช่ไหมครับ?

 

Guido: ถูกต้องครับ ถ้าคุณต้องการสร้างโลกที่ยั่งยืนและดำเนินการตามวิสัยทัศน์ Planet of Plenty ให้สำเร็จ พวกเราทุกคนต้องร่วมมือกัน ดังนั้น เราจึงทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับโรงงานที่เป็นพันธมิตรในท้องถิ่นเพื่อทำการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และพยายามลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยพร้อมๆ กัน เราได้แบ่งปันความรู้และประสบการณ์ เพราะต้องการผลิตอาหารสัตว์ที่ดีกว่าให้กับชุมชนในท้องถิ่น และลดอัตราการแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio) การทำเช่นนี้ทำให้เราไม่เพียงแต่ผลิตอาหารได้มากขึ้นและได้ผลลัพธ์เป็นอาหารที่มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อชุมชนเท่านั้น แต่ยังสามารถลดปริมาณการใช้วัตถุดิบลงอีกด้วย เรียกว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย

 

Tom: ความยั่งยืนถูกนำมาบูรณาการในกลยุทธ์ทางธุรกิจของ Coppens อย่างไร และเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของกลยุทธ์ที่ว่านี้คืออะไร?

 

Guido: ที่ Alltech Coppens เราได้แรงบันดาลใจจากความท้าทายที่อยู่ตรงหน้าเราในโลกของเราในการที่จะผลิตอาหารที่ปลอดภัยและมีโภชนาการให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอ พร้อมๆ ไปกับการใส่ใจชีวิตของสัตว์และดูแลผืนดิน อากาศ และทรัพยากรน้ำของเราให้ยั่งยืนเพื่อลูกหลานในอนาคต Planet of Plenty คือวิสัยทัศน์ที่เป็นทั้งคำมั่นสัญญา โอกาส และการมองโลกในแง่บวกต่ออนาคตของเราครับ

เราสามารถสร้างโลกที่อุดมสมบูรณ์ขึ้นมาได้ เพียงแค่พวกเราทุกคนร่วมมือกัน ที่ Alltech Coppens เราให้ความสำคัญต่อ 3 ด้านหลัก ด้านแรกคือการดำเนินงานที่ยั่งยืน ด้านที่สองคือวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม และด้านที่สามคือผู้คนและชุมชน ถ้าหากคุณเข้าไปดูในเว็บไซต์ของเรา alltechcoppens.com คุณจะพบตัวอย่างของการบูรณาการเรื่องความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจของเรา นับตั้งแต่ดัชนีอาหารสัตว์ที่ยั่งยืน การนำทรัพยากรน้ำกลับมาใช้ซ้ำ การก่อตั้งกลุ่ม Alltech Coppens Academy เพื่อดูแลเรื่องการจัดการของเสีย และอีกมากมาย ส่วนในระยะยาว เราได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะพัฒนาให้ Alltech Coppens Aqua Centre ก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ให้ได้ภายในปี 2025 ดังนั้น ภายใน 3 ปีครึ่งต่อจากนี้ เราจะเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น และจะปรับตัวให้เป็นองค์กรที่ใช้เพียงพลังงานหมุนเวียนเท่านั้นให้ได้ภายในปี 2030 และจะปล่อยของเสียให้เป็นศูนย์โดยใช้วิธีการรีไซเคิลและนำวัตถุดิบมาใช้ซ้ำตลอดวัฏจักรการผลิตอาหารปลาของเราภายในปี 2030

 

Tom: คำถามข้อนี้อาจมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว หรือก็อาจจะไม่ ทำไมการสร้างความยั่งยืนในระยะยาวจึงเป็นสิ่งที่ธุรกิจควรให้ความสำคัญ?

 

Guido: ถ้าจะให้พูดง่ายๆ คือ ความยั่งยืนเป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบหนึ่งที่ช่วยป้องกันความล้มเหลวในระยะยาวด้วยการคำนึงถึงวิธีการดำเนินธุรกิจทั้งในแง่ของนิเวศวิทยา สังคม และสิ่งแวดล้อม เมื่อความคาดหวังที่มีต่อความรับผิดชอบขององค์กรเพิ่มมากขึ้น และเมื่อความโปร่งใสกลายเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ บริษัทต่างๆ จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการขานรับต่อแนวคิดเรื่องความยั่งยืน ลำพังแค่การสื่อสารอย่างมืออาชีพและเจตนารมณ์ที่ดีนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะความยั่งยืนคือความท้าทายครั้งใหญ่ เป็นความท้าทายที่เราทุกคนต้องเผชิญ ไม่ใช่เฉพาะในฐานะบริษัทเท่านั้น แต่เป็นเพราะเราทุกคนล้วนต้องการสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้ในระยะยาว และเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายนั้นได้ก็ต่อเมื่อเราบูรณาการแนวคิดเรื่องความยั่งยืนเข้ามาเป็นหัวใจหลักในธุรกิจ

 

Tom: มีส่วนหนึ่งในรายงานความยั่งยืนของคุณที่ระบุว่าคุณตรวจสอบการประเมินวัตถุดิบและซัพพลายเออร์ ทุกวันนี้เรามักจะได้ยินเรื่องราวปัญหาที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทานอยู่บ่อยๆ ในฝั่งของอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเอง ต้องเจอกับปัญหาในลักษณะดังกล่าวเหมือนกันหรือไม่?

 

Guido: เจอเหมือนกันครับ เราเผชิญกับปัญหาและความท้าทายเฉกเช่นเดียวกับอุตสากรรมใหญ่อื่นๆ มีทั้งปัญหาเรื่องรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงด้านภาษีนำเข้าและส่งออก มีสงครามการค้า การประท้วง สภาพภูมิอากาศที่รุนแรง แล้วก็มีเรื่องโรคโควิด-19 ปัญหาด้านระบบโลจิสติกส์ที่กระจายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก และอีกมากมาย ส่วนที่ยากที่สุดคือลูกค้าของเราและสัตว์ที่อยู่ในการดูแลของพวกเขาจำเป็นต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารของเรา เราไม่สามารถเลื่อนตารางนัดหมายให้ล่าช้าไป 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นได้ เพราะแค่เราล่าช้าไป 1 วันก็อาจก่อให้เกิดผลร้ายแรงตามมาได้ เพราะฉะนั้น ที่ Alltech Coppens เราจึงติดตามสถานการณ์ทุกอย่างและบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการให้พร้อมอย่างดีที่สุด

 

Tom: มีสารคดีเรื่องหนึ่งที่เริ่มฉายบน Netflix เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ชื่อว่า Seaspiracy ซึ่งเป็นสารคดีที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์แตกออกเป็นสองฝ่าย ดาราและผู้มีชื่อเสียงหลายคนออกมาชื่นชมว่าสารคดีเรื่องนี้เป็น “การเปิดโปงแบบถึงลูกถึงคนของการทำประมงอันเป็นภัยร้ายแรงที่สุดต่อชีวิตในท้องทะเล” แต่ในขณะเดียวกันก็มีองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร แบรนด์สินค้าที่เน้นเรื่องความยั่งยืน และผู้เชี่ยวชาญบางส่วนที่ให้สัมภาษณ์ในสารคดี ออกมากล่าวหาว่าผู้ผลิตสารคดีดังกล่าวสร้างเนื้อหาที่ชวนให้เกิดความเข้าใจผิด โดยนำเสนอบทสัมภาษณ์อย่างไม่คำนึงถึงบริบท และแสดงสถิติที่มีข้อผิดพลาด คุณมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไรบ้าง?

 

Guido: ผมคิดว่าทุกคนน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าสารคดีเรื่องนี้ต้องการสื่อสารเกี่ยวกับภัยอันตรายทางนิเวศวิทยาที่เกิดจากอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างความกังวลให้กับหลายๆ ฝ่าย แต่ถ้าว่ากันตามตรง เราควรจะร่วมกันนำเสนอข้อเท็จจริง ไม่ใช่เรื่องแต่ง และสามัคคีกันในเรื่องนี้ ตลอดจนหามติร่วมกันและสนับสนุนการโต้แย้งอย่างมีเหตุผลเพื่อเป็นตัวโน้มน้าวให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรม การจงใจละเลยกรณีความสำเร็จมากมายอันเกิดจากการบริหารจัดการที่ดี คือสาเหตุที่ทำให้ชุมชนด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ มีมุมมองต่อปัญหาดังกล่าวแบบสุดโต่ง

 

Tom: คุณคิดว่าการนำเสนอแบบผิดๆ ที่ร้ายแรงที่สุดที่สารคดีเรื่องนี้นำเสนอออกมาคืออะไร?

 

Guido: ข้อผิดพลาดที่ใหญ่ที่สุดคือการบอกว่าการทำประมงที่ยั่งยืนไม่มีอยู่จริง อย่างที่พวกเราทราบกันดี ระบบการผลิตอาหารส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ แน่นอนว่า มีบุคคลและหน่วยงานบางกลุ่มที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของการทำประมงที่ยั่งยืน จากการประเมินครั้งล่าสุดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ พบว่า เกือบ 2 ใน 3 ของปลาเพื่อการบริโภคทั้งหมด ถูกจับมาด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน หรือเท่ากับราว 66% นอกจากนี้ 78% ของผลลัพธ์ที่ได้จากการทำประมงทางทะเลทั้งหมดมาจากแหล่งชีวภาพที่ยั่งยืน ซึ่งนั่นเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากข้อมูลที่ Seaspiracy นำเสนอโดยสิ้นเชิง

 

Tom: หัวหน้าโครงการสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทางทะเลระหว่างประเทศ (International Marine Mammal Projects) กล่าวว่า Seaspiracy พยายามทำลายล้างองค์กรต่างๆ ที่ทำงานสำคัญเพื่อปกป้องท้องทะเลและสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล เรื่องนี้จริงหรือไม่?

 

Guido: ถูกต้องครับ ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ควรจะนำเสนอข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกต้องมากกว่านี้ หลายคำกล่าวที่อยู่ในสารคดีอ้างอิงมาจากงานวิจัยที่ล้าสมัย และมีการพยายามสร้างความเชื่อมโยงโดยไม่มีมูล ข้อผิดพลาดเหล่านี้อาจทำให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจอย่างรัฐบาลมองข้ามใจความสำคัญของสารคดีชิ้นนี้ไปได้ง่ายๆ นอกจากนี้ Seaspiracy ยังขาดการนำเสนอข้อมูลจากหลากหลายมุมมอง แทบจะทั้งหมดของผู้ให้สัมภาษณ์เป็นคนผิวขาวที่มาจากประเทศโลกตะวันตก แทนที่จะเป็นบุคคลจากหลากหลายชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ผู้ให้ข้อมูลควรจะมีทั้งบุคคลที่มาจากอุตสาหกรรมอาหารทะเล ผู้จัดการ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไร และชุมชนในแอฟริกาหรือเอเชีย อันที่จริงภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้แทบจะไม่มีนักวิทยาศาสตร์ด้านการประมงมาให้สัมภาษณ์เลยด้วยซ้ำ ซึ่งในความเห็นของผมมองว่า นี่เป็นการละเลยที่เป็นช่องโหว่ใหญ่สำหรับสารคดีที่ว่าด้วยเรื่องการทำประมงเกินขนาด

 

Tom: ผู้กำกับสารคดี อาลี ทาบริซี อ้างว่าอุตสาหกรรมประมงกำลังอยู่ในวิกฤตขาลง เรื่องนี้จริงหรือไม่?

 

Guido: การทำประมงเกินขนาดเป็นปัญหาก็จริง แต่เรารู้ว่าการทำประมงที่ยั่งยืนนั้นเป็นไปได้ ถ้าหากเราละเลยเรื่องนี้ จะยิ่งเป็นการสร้างปัญหาทางทะเลให้เพิ่มมากขึ้น และจะทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นหายนะต่อทางบกตามมา จนมนุษย์จะมองเห็นปัญหาได้ชัดขึ้น ในแง่ของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ การทำประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำภายใต้การจัดการที่ดีจะทำให้ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นน้อยลงกว่าระบบการผลิตอาหารอื่นๆ มาก ปัจจุบัน อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำถือเป็นผู้ผลิตปลาและอาหารทะเลครึ่งหนึ่งของปริมาณทั้งหมดในโลก และเราต้องพยายามหาวิธีขยายอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อผลิตอาหารให้กับจำนวนประชากรของโลกที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีการจัดการทำประมงที่ดีขึ้นแล้ว แต่เราก็ไม่น่าจะสามารถควบคุมดูแลการประมงที่ปลอดทะเลให้ยั่งยืนได้มากนัก ดังนั้น เราจึงฝากอนาคตไว้กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ

 

Tom: สารคดีเรื่องดังกล่าวได้คาดการณ์สถิติหนึ่งที่น่าสะพรึงไว้ โดยอ้างอิงจากงานวิจัยในปี 2006 ว่าท้องทะเลจะปราศจากสิ่งมีชีวิตภายในปี 2048 หรือเท่ากับ 27 ปีต่อจากนี้ การประมงจะหมดสิ้นไปตามการคาดการณ์ที่ว่านี้จริงหรือไม่? เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่เส้นทางนั้นจริงหรือ?

 

Guido: นี่ก็เป็นอีกหนึ่งข้อมูลผิดๆ ที่สารคดีเรื่องนี้เอามานำเสนอ เดิมทีคำกล่าวอ้างนี้เป็นส่วนหนึ่งในเอกสารวิจัยเมื่อปี 2006 โดยบอริส วอร์ม สิ่งที่น่าขันก็คือในเอกสารวิจัยที่ตีพิมพ์ตามมาในปี 2009 หรือ 3 ปีให้หลัง วอร์มได้ระบุว่า เขาพบว่าในบางพื้นที่ซึ่งมีการจำกัดการทำประมง ก็สามารถจับปลาได้ในยอดที่ถึงเป้า เมื่อพิจารณาข้อมูลที่งานวิจัยชิ้นนี้นำมาอ้างอิงให้ดีๆ จะพบว่าข้อมูลนี้นำมาจากการคาดเหตุการณ์ข้างหน้าที่ผิดพลาด มันเป็นงานวิจัยที่มีข้อสงสัยตั้งแต่แรก งานวิจัยที่ใหม่กว่าในปี 2016 ซึ่งรายงานโดย National Academy of Science of the United States คาดการณ์ว่า กว่า 50% ของจำนวนปลาสำหรับบริโภคทั้งหมดจะมาจากกระบวนการที่ยั่งยืนภายในปี 2050 และแน่นอนว่าการทำประมงเกินขนาดเป็นปัญหาในบางภูมิภาค แม้กระทั่งในภูมิภาคที่บังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจัดการการประมงซึ่งอิงตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง เรื่องปริมาณของปลาเพื่อบริโภคก็ดำเนินเป็นไปในทางที่ดี

 

Tom: คุณมีความเห็นอย่างไรต่อข้อมูลต่างๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านสารคดีเรื่องดังกล่าวหรือไม่? หรืออยากจะฝากอะไรเพื่อยืนยันให้ผู้คนมั่นใจว่าอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยังคงยึดถือและปฏิบัติตามหลักการความยั่งยืนสักหน่อยไหมครับ?

 

Guido: ลองมาดูเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับหอยที่มาจากการเพาะเลี้ยงในฟาร์มแล้วกันครับ เช่น หอยนางรม หอยแมลงภู่ และหอยเชลล์ หอยเหล่านี้คือหนึ่งในอาหารที่ยั่งยืนที่สุด เพราะสัตว์เหล่านี้ไม่ต้องการอาหารเสริม และสามารถสร้างโภชนาการได้โดยตรงจากกระแสน้ำทะเลในพื้นที่เพาะเลี้ยง ด้วยเหตุนี้ หอยเหล่านี้จึงสามารถนำเอาแสงอาทิตย์มาช่วยสร้างเป็นโปรตีนสัตว์ที่อุดมไปด้วยสารอาหารผ่านพืชที่อยู่ในรูปแบบของแพลงตอน และในบางกรณี การเลี้ยงหอยยังช่วยลดมลพิษและปรับปรุงคุณภาพของน้ำให้ดีขึ้นได้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น ปุ๋ยที่ไหลมาจากการทำฟาร์มบนบกคือสาเหตุที่พบบ่อยที่ก่อให้เกิดมลพิษในน้ำ แต่หอยสามารถกรองของเสียงเหล่านี้ออกจากแหล่งน้ำได้ โดยเปลี่ยนให้กลายเป็นอาหาร ซึ่งกระบวนการนี้เองยังนำมาซึ่งประโยชน์เพิ่มเติม นั่นคือช่วยลดโอกาสที่จะเกิดสาหร่ายเป็นพิษสะพรั่งในพื้นที่ที่มีการทำฟาร์มหอยอีกด้วย

หากเราศึกษาลึกลงไปอีกจะพบว่าค่า Fish In Fish Out หรือที่อุตสาหกรรมเราเรียกว่า FIFO จะอยู่ที่ 0.27 ซึ่งหมายความว่าเราต้องใช้ปลาที่มาจากแหล่งธรรมชาติจำนวน 270 กรัมในการผลิตปลาจากแหล่งเพาะเลี้ยงจำนวน 1 กิโลกรัม ค่า FIFO นี้คำนวณโดยคิดจากจำนวนปลาที่จับมาและใช้กระบวนการผลิตอาหารเพาะเลี้ยงปลา และจำนวนปลาที่บริโภคอาหารเหล่านั้น เท่ากับว่าถ้าหากเรานำวิธีนี้มาคำนวณกับการผลิตที่ Alltech Coppens เราจะมีค่า FIFO อยู่ที่ 0.10 ซึ่งหมายความว่าเราต้องใช้ปลาจากแหล่งธรรมชาติจำนวน 100 กรัมในการผลิตปลาจากแหล่งเพาะเลี้ยงจำนวน 1 กิโลกรัม

 

ฟังดูเป็นวิธีที่ยั่งยืนสำหรับผมนะ เราใช้ปลา 1 กิโลกรัมเพื่อเพิ่มจำนวนปลาใหม่ 10 กิโลกรัม นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากปลาที่มาจากแหล่งเพาะเลี้ยงยังน้อยกว่าผลิตภัณฑ์บางอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวันอย่างมีนัยยะสำคัญด้วยนะ ทอมครับ คุณทราบไหมว่า กาแฟและช็อกโกแลตมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าปลาจากแหล่งเพาะเลี้ยงถึง 3-4 เท่า และแม้กระทั่งน้ำมันที่ดีต่อสุขภาพ อย่างพวกน้ำมันมะกอก ก็ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าปลาที่มาจากแหล่งเพาะเลี้ยงเสียอีก ที่สำคัญ อัตราการแลกเนื้อของปลาบางสายพันธุ์ที่เราผลิตอาหารให้นั้นอยู่ที่ต่ำกว่า 1 ซึ่งหมายความว่า เราใช้ปริมาณอาหารน้อยกว่า 1 กิโลกรัมในการผลิตปลา 1 กิโลกรัม ลองนำตัวเลขเหล่านี้เก็บไปพิจารณาดูครับ ผมว่ามันยั่งยืนนะ คุณว่าไหม?

 

Tom: เป็นการเปรียบเทียบที่น่าสนใจจริงๆ และช่วยทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น และนี่คือ กิวโด โครลลา ผู้จัดการแผนกจัดซื้อของ Alltech Coppens ขอบคุณมากครับ กิวโด

 

Guido: ขอบคุณครับ ทอม

Loading...