อาหารสำหรับเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
เมื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวิวัฒนาการเป็นระบบการเพาะเลี้ยงที่มีความซับซ้อนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราจึงจำเป็นต้องปรับอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์น้ำ อาทิ ปลาและกุ้ง ไปพร้อมๆ กัน เบน แลมเบอริกส์ ผู้จัดการด้านคุณภาพ การวิจัย และโภชนาการ ประจำ Alltech Coppens ได้กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ในงาน Alltech ONE Ideas Conference เมื่อเดือนมิถุนายน 2021 โดยนำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับโภชนาการสำหรับสัตว์น้ำเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ผ่านหลัก 4 ประการ
สถานการณ์ปัจจุบันของการผลิตอาหารสำหรับสัตว์น้ำ
อุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่เติบโตอย่างรวดเร็วนำมาซึ่งปริมาณความต้องการอาหารเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ปลาป่นที่มีอยู่ในตลาดนั้นมีจำกัด และแม้ว่าเราจะลดปริมาณความต้องการปลาป่น (Fishmeal) ทั้งหมดในโลกลง 50% แล้ว เราก็ยังต้องผลิตปลาป่นให้ได้เกือบ 1.5 ล้านตันภายในปี 2050 ซึ่งเราไม่มีทรัพยากรมากเพียงพอ
"ปัญหานี้เป็นความท้าทายที่เราต้องแก้ไขให้ได้ก่อน จึงจะสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้เติบโตได้" เบน แลมเบอริกส์ กล่าว “ธุรกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรมกำลังหาวิธีการแก้ไขปัญหานี้ให้ได้สำเร็จ ซึ่งกระบวนการก็กำลังคืบหน้าไปได้ด้วยดี”
ถึงเราจะสามารถลดค่า Fish In Fish Out (FIFO) ลงมาได้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา แต่เราก็ยังต้องการทางเลือกอื่นๆ สำหรับใช้ทดแทนปลาป่น เช่น
- ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากสัตว์ (ฮีโมโกลบิน เลือดป่น เนื้อสัตว์ปีกป่น)
- แหล่งโปรตีนจากพืช (กากเมล็ดทานตะวัน โปรตีนจากข้าวสาลี กากถั่วเหลือง)
- แมลงป่น (หนอนนก หนอนแมลงวันลาย)
- ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากการบริโภคของมนุษย์ (ผลิตภัณฑ์พลอยได้จากปลาหรือแซลมอน)
ในขณะที่การผลิตเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำทั่วโลกอยู่ที่อัตรา FIFO 0.27 Alltech Coppens สามารถลดค่า FIFO ลงได้เหลือ 0.10 ซึ่งหมายความว่าเราใช้ปลาจากแหล่งธรรมชาติเพียง 100 กรัมเพื่อการผลิตปลาจากแหล่งเพาะเลี้ยง 1 กิโลกรัม
Alltech Coppens ใช้วิธีการอะไร?
เราเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของปลา
“อันดับแรก เราต้องเข้าใจพื้นฐานเรื่องโภชนาการเสียก่อน” แลมเบอริกส์กล่าว “ไม่มีปลาตัวไหนที่มีความจำเป็นต้องบริโภคปลาป่น หรือวัตถุดิบเฉพาะ”
คุณสมบัติของอาหารที่ปลาต้องการ ได้แก่
- สารอาหารที่จำเป็น เช่น โปรตีนที่ย่อยได้ ไขมันเพื่อเป็นพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุ
- อาหารที่มีรสชาติดี เพื่อดึงดูดให้ปลากินอาหาร
- คุณภาพน้ำที่ดีในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เพราะปลาจะว่าย ขับถ่าย และกินอาหาร อยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันทั้งหมด
“เมื่อเราผลิตอาหารทางเลือกได้ตามคุณสมบัติเหล่านี้ อาหารทางเลือกก็จะไม่ใช่แค่ตัวเลือกสำรองอีกต่อไป” แลมเบอริกส์ กล่าว “เราจำแนกคุณสมบัติต่างๆ ออกมาเป็นตัวชี้วัด เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์กันระหว่างแต่ละทางเลือก และผลลัพธ์ระหว่างทางเลือกใหม่กับปลาป่นได้ดีขึ้น”
วิธีการนี้ถูกนำมาใช้กับอาหารของมนุษย์เช่นกัน ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือคะแนนทางโภชนาการบนบรรจุภัณฑ์อาหาร การให้คะแนนทางโภชนาการและการให้คะแนนความยั่งยืนช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเปรียบเทียบระหว่างผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้ ข้อมูลบนฉลากและภาพสัญลักษณ์เหล่านี้เองคือสื่อที่ผู้ผลิตนำมาใช้เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง
นี่คือสิ่งที่ Alltech Coppens ดำเนินการมาโดยตลอดเพื่อพัฒนาทางเลือกสำหรับทดแทนปลาป่น โดยใช้วิธีจำแนกทางเลือกต่างๆ โดยอิงจากตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มหลัก คือ รสชาติ (Palatability) ประสิทธิภาพ (Performance) มลภาวะ (Pollution) และความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Planet)
4 สิ่งสำคัญของโภชนาการปลาเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
1. รสชาติ (Palatability): อาหารต้องอร่อยสำหรับปลา
“รสชาติเป็นเสาหลักที่สำคัญที่สุด เพราะถ้าปลาไม่กินอาหาร ปลาก็จะไม่ได้ผลลัพธ์ใดๆ จากอาหาร และทำให้การควบคุมมลภาวะแย่ไปด้วย” แลมเบอริกส์ อธิบาย
กราฟด้านล่างแสดงผลจากการทดลองกับปลาเรนโบว์เทราต์ที่ระดับการให้อาหารสูงสุด แกน y แสดงถึงปริมาณอาหารที่ปลาได้รับในอัตราการเผาผลาญเป็นกรัม/กิโลกรัม และแกน x แสดงรสชาติ
เปรียบเทียบการให้อาหาร 2 วิธี ได้แก่
· เส้นสีน้ำเงิน: 100% ของโปรตีนมาจากปลาป่น (อาหารปลาป่น)
· เส้นสีเขียว: 100% ของโปรตีนมาจากผัก (อาหารผัก)
อาหารสำหรับสองกลุ่มตัวอย่างถูกเปลี่ยนในวันที่ 4 ของการทดลอง สิ่งที่น่าสนใจคือ ระดับการให้อาหารลดลงสำหรับอาหารทั้งสองชนิด นั่นหมายความว่าแม้แต่ปลาที่ได้รับอาหารผักก่อนวันที่ 4 และเปลี่ยนมากินอาหารที่มีรสชาติมากกว่า (อาหารปลาป่น) ก็มีระดับการให้อาหารลดลงเช่นกัน แต่สุดท้ายแล้ว ระดับการให้อาหารที่ลดลงนั้นฟื้นตัวได้รวดเร็วกว่ากลุ่มอื่นมาก
จากการทดลองนี้พบว่ามีตัวชี้วัดที่สำคัญสองประการเกี่ยวกับรสชาติอาหาร คือ
- ระดับการให้อาหารลดลงหลังจากเปลี่ยนอาหาร
- ระยะเวลาการฟื้นตัวที่จำเป็นหลังจากเปลี่ยนอาหาร
"ถ้าเราสามารถวัดปริมาณผลกระทบที่เกิดกับอาหารทางเลือกทั้งหมดได้ เราจะสามารถคำนวณและสร้างสูตรผสมที่ดีที่สุดระหว่างทางเลือกต่างๆ ได้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เดียวกับที่ได้จากปลาป่น" แลมเบอริกส์ กล่าว
2. ประสิทธิภาพ: ปลาต้องการสารอาหารที่จำเป็น
พลังงานเป็นตัวขับเคลื่อนการเจริญเติบโต เมื่อระดับพลังงานเพิ่มขึ้น อัตราส่วนการแลกเนื้อ (Feed Conversion Ratio: FCR) จะลดลงและประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของสัตว์จะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ พลังงานยังคิดเป็น 70% ของต้นทุนอาหารสัตว์
"ถ้าหากเราเพิ่มระดับพลังงานของอาหารสัตว์ขึ้น 10% อาหารสัตว์นั้นจะมีราคาเพิ่มขึ้น 70%" แลมเบอริกส์ กล่าว
คำว่าพลังงานในที่นี้หมายถึงอะไร?
พลังงานรวม (Gross Energy) คือพลังงานที่มีอยู่ในส่วนผสมของอาหารสัตว์ ถ้าหากสัตว์สามารถย่อยพลังงานนั้นได้ พลังงานดังกล่าวจะกลายเป็นพลังงานที่ย่อยได้ (Digestible Energy) ถ้าหากพลังงานที่ย่อยได้ถูกนำเข้าสู่ร่างกายของสัตว์หรือมีการเก็บรักษาอย่างถูกต้อง พลังงานดังกล่าวจะกลายเป็นพลังงานสุทธิ (Net Energy)
การเปรียบเทียบพลังงานสุทธิของอาหารสัตว์ประเภทต่างๆ ตลอดจนการพิจารณาเรื่องรสชาติและความยั่งยืน จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถเลือกอาหารที่ดีที่สุดเพื่อประสิทธิภาพที่ดีได้
3. มลภาวะ: ปลาต้องการคุณภาพน้ำที่ดี
ปัจจัยหลัก 3 ประการที่ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ ได้แก่
· อาหารที่ปลาไม่กิน
· การขับถ่ายแอมโมเนียและฟอสฟอรัส
· มูล (จมได้เร็วแค่ไหน ส่วนใดจมตัวได้ และส่วนใดแขวนลอย)
ตัวอย่างของการควบคุมมลภาวะ ได้แก่ ความสามารถในการย่อยไขมัน ซึ่งขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของน้ำเป็นหลัก มลภาวะในแง่ของไขมันกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ในฟาร์มปลาเทราท์ที่มีอุณหภูมิน้ำต่ำ (ต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ฟาร์มมีระดับการให้อาหารสูง
กรดไขมันที่มีจุดหลอมเหลวต่ำ เช่น น้ำมัน linseed หรือน้ำมันถั่วเหลือง จะมีความสามารถในการย่อยไขมันสูง ในกรณีนี้ แม้ว่าอุณหภูมิของน้ำจะลดลง ก็ส่งผลกระทบน้อย
Alltech Coppens มีองค์ความรู้ในเรื่ององค์ประกอบของกรดไขมันที่อยู่ในแหล่งโปรตีนทางเลือกทดแทนปลาป่นและน้ำมันปลา จึงสามารถใช้วิธีการนี้เพื่อคาดคะเนความสามารถในการย่อยของไขมันและป้องกันไขมันไม่ให้ปนเปื้อนในน้ำได้
4. ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม: ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของอาหารสัตว์
แลมเบอริกส์ กล่าวว่า "ด้วยแนวคิดความยั่งยืนขององค์กรเราและความมั่นใจว่าเราสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตต่อไปได้ เราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องวัดปริมาณผลกระทบของผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบ และแหล่งโปรตีนทางเลือกทดแทนปลาป่นของเราที่มีต่อสิ่งแวดล้อม"
Alltech Coppens ได้ดำเนินการดังกล่าวผ่านการประเมินวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Assessment: LCA) โดยไม่เพียงแต่พิจารณาถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ที่เกิดจากส่วนผสมชนิดใดชนิดหนึ่งเท่านั้น แต่ยังพิจารณาไปถึงขั้นตอนต่างๆ ของการผลิต การใช้ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และการบำบัดของเสียด้วย
เมื่อ Alltech Coppens พิจารณาผลกระทบทั้งหมดนี้เข้าด้วยกันแล้ว จึงทำให้ได้ออกมาเป็นคะแนนความยั่งยืนรวมของวัตถุดิบต่างๆ ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกอาหารสัตว์ที่ยั่งยืนได้อย่างเหมาะสม
"ถ้าเราวัดปริมาณและ 4 ป้จจัยหลักทั้งหมดนี้ได้ และใส่ข้อมูลในระบบซอฟต์แวร์ เราก็จะสามารถสร้างส่วนผสมที่ดีที่สุดของแหล่งโปรตีนทางเลือกของเรารวมทั้งปลาป่นในราคาต่ำที่สุดและมีคุณภาพดีที่สุดได้" แลมเบอริกส์ กล่าว
ในช่วงท้ายของการบรรยาย แลมเบอริกส์ หวังว่าผู้ฟังจะเล็งเห็นว่าแหล่งโปรตีนทางเลือกทดแทนปลาป่นนั้นไม่ใช่แค่ตัวเลือกสำรอง แต่เป็นส่วนผสมแบบหนึ่ง
“แมลงป่น โปรตีนถั่วเหลือง เนื้อสัตว์ปีกป่น หากเราสามารถวัดปริมาณตัวชี้วัดที่อยู่เบื้องหลังส่วนผสมเหล่านี้ได้ เราก็จะสามารถใช้วัตถุดิบเหล่านี้ได้อย่างเหมาะสม” แลมเบอริกส์ กล่าวแนะนำ “เมื่อเราพิจารณาถึงความยั่งยืน การควบคุมมลภาวะ ประสิทธิภาพ และรสชาติ เราก็จะสามารถใช้แหล่งโปรตีนทางเลือกและปลาป่นประเภทต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง และขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์น้ำของเราได้สำเร็จ”